ความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์
โลกมีโครงสร้างชั้นที่ 5 ซ่อนอยู่ใต้แก่นชั้นใน
แม้จะสันนิษฐานกันมานานแล้วว่า โลกของเรามีโครงสร้างที่ลึกลงไปภายในมากกว่า 4 ชั้น ซึ่งต่างจากสิ่งที่ตำราเรียนได้เคยระบุเอาไว้ แต่ปีนี้นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะพบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ภายใต้แก่นโลกชั้นใน (inner core) ยังมีชั้นของแร่ธาตุที่มีโครงสร้างต่างออกไปซ่อนอยู่อีกเป็นชั้นที่ 5 ด้วย
มีการวิเคราะห์ความเร็วและการหักเหเบี่ยงเบนทิศทางของคลื่นแผ่นดินไหว ขณะที่มันเคลื่อนผ่านโครงสร้างของโลกในชั้นต่าง ๆ ผลปรากฏว่าพบคลื่นแผ่นดินไหวจำนวนมากเคลื่อนที่ได้ช้าลง และพบการเบี่ยงเบนราว 54 องศา ขณะเคลื่อนผ่านด้านในสุดของโลก ซึ่งชี้ชัดว่ายังมีแก่นชั้นในซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง และอาจเป็นเหล็กที่มีการจัดเรียงตัวของผลึกโลหะแตกต่างจากโครงสร้างชั้นอื่น ๆ
หลักฐานใหม่ยืนยัน โลกมีโครงสร้างชั้นที่ 5 ซ่อนอยู่ใต้แก่นชั้นใน
สำรวจโลกใหม่บนดาวอังคารและดาวศุกร์
ปีนี้ถือเป็นปีแห่งความก้าวหน้าในการสำรวจดาวอังคารอย่างแท้จริง เพราะทั้งองค์การนาซาของสหรัฐฯและทางการจีนได้ส่งหุ่นยนต์ลงไปยังพื้นผิวของดาวอังคารได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นยนต์ที่เป็นรถตระเวนสำรวจตัวใหม่ของนาซา “เพอร์เซเวียแรนซ์” (Perseverance) ได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมาย เพื่อเตรียมปูทางสู่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบบินเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอากาศยานที่บินบนดาวดวงอื่นลำแรกของมนุษยชาติ รวมทั้งใช้อุปกรณ์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวอังคารให้กลายเป็นออกซิเจนได้สำเร็จ
หุ่นยนต์ “เพอร์เซเวียแรนซ์” ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จแล้ว
ส่วนความหวังเรื่องการพบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วนั้น มีความคืบหน้าในการตรวจสอบสารฟอสฟีน (phosphine) ที่บ่งชี้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศ โดยมีแนวโน้มว่าฟอสฟีนที่ตรวจพบนั้นมีอยู่น้อยเกินไป และน่าจะมาจากภูเขาไฟบนดาวศุกร์มากกว่าจะเป็นผลผลิตของจุลชีพ นอกจากนี้ บรรยากาศของดาวศุกร์นั้นแทบจะไม่มีน้ำเลย ทำให้สภาพแวดล้อมแห้งเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตใดจะอาศัยอยู่ได้
อย่างไรก็ดียังคงมีงานวิจัยล่าสุดที่ชี้ว่า ระดับของแสงอาทิตย์ รวมทั้งความเป็นกรดเป็นด่าง และความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของน้ำในกลุ่มเมฆของดาวศุกร์ เอื้ออำนวยต่อการจับพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีในสิ่งมีชีวิตได้ เหมือนกับที่พบในการสังเคราะห์ด้วยแสง
วัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียที่รอมานานเกือบ 30 ปี
สำหรับความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปีนี้ นอกจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบใหม่ ๆ และยาต้านไวรัส “แพ็กซ์โลวิด” (Paxlovid) ของไฟเซอร์ ที่ลดความเสี่ยงป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิดได้สูงสุดถึง 89% แล้ว นักวิจัยยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรีย ที่ใช้เวลาคิดค้นและทดสอบกันมานานถึงเกือบ 30 ปีอีกด้วย
มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่วัคซีนใช้ได้ผลโดยมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ 77% ผ่านเกณฑ์กำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากที่ก่อนหน้านี้การทดลองวัคซีนล้มเหลวบ่อยครั้ง เนื่องจากมียีนก่อโรคหลายพันตัวในเชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรีย
วัคซีนสำคัญชนิดนี้จะช่วยหยุดยั้งการระบาดของไข้มาลาเรีย ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4 แสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กในทวีปแอฟริกา
อ็อกซ์ฟอร์ดทดลองวัคซีนมาลาเรียสำเร็จ มีประสิทธิภาพสูงถึง 77 %
ที่มา: bbc