3แนวโน้มนวัตกรรม
การก้าวกระโดดของวัคซีน
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2020 – 2021 ที่ผ่านมา หากถามว่าเทคโนโลยีด้านใดได้รับการส่งเสริมสูงสุดย่อมหนีไม่พ้นการแพทย์ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด นำไปสู่ความพยายามในการคิดค้นวัคซีนเพื่อนำมาป้องกัน จนสามารถพาเราผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติได้สำเร็จ ปัจจุบันเราอาจพูดว่ากลับสู่ภาวะปกติได้ไม่เต็มปากแต่ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิต แต่ผลพวงจากการทุ่มเทงบประมาณเพื่อผลักดันวัคซีน นำไปสู่ความล้ำหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีวัคซีน mRNA ที่ไม่ได้ถูกใช้งานแค่ในการป้องกันโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด แต่รวมถึงวงการแพทย์นับจากนี้ ล่าสุดความพยายามในการพัฒนาวัคซีน mRNA รุ่นใหม่เกิดขึ้นโดยบริษัทยาที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่าง Moderna กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเริม, งูสวัส จนถึงโรคมะเร็ง ที่อาจกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังอีกหลายชนิด นั่นทำให้ในปี 2023 บริษัทยาอาจมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันและยับยั้งโรคต่างๆ มากขึ้น ทั้งบริษัทยาที่เราคุ้นตากันดีอย่าง Pfizer, Moderna, Astrazeneca ไปจนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่โดดเข้ามาร่วมสมรภูมิวัคซีน จนอาจทำให้มีวัคซีนมะเร็งและโรคชนิดตามมามากมาย
ความมั่นคงและยั่งยืนของพลังงานสะอาด
ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อสภาพอากาศแปรปรวนเริ่มส่งผลกระทบต่อภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ประกอบกับราคาพลังงานเชื้อเพลิงพุ่งสูง แนวคิดการปรับตัวเข้าหาพลังงานสะอาดจึงกลายเป็นวาระสำคัญทั่วโลก เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ให้ร้ายแรงไปกว่านี้ นำไปสู่แนวการผลักดันพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น ตั้งแต่การผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการพัฒนาโซล่าเซลล์ให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีแนวคิดในการสะท้อนแสงอาทิตย์เข้าสู่แผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในเวลากลางคืน นอกจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเดิมที่มีอยู่ ส่วนที่ได้รับการส่งเสริมไม่แพ้กันคือ พลังงานนิวเคลียร์ กับการพัฒนาเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ให้มีขนาดเล็กและความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงจาก ไฮโดรเจน ที่ยังคงได้รับการส่งเสริมไม่แพ้กัน ด้วยสภาวะโลกร้อนที่ยังคงรุนแรง เทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะยังได้รับการผลักดันต่อไป โดยเฉพาะในส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ เพื่อเป้าหมายในการให้ทั่วโลกมุ่งสู่ Net zero ภายในปี 2050 เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ และมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ก้าวต่อไปแห่งยานยนต์ไฟฟ้า
ช่วงปีที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมจนกลายเป็นยุคสมัยใหม่แห่งยานยนต์ ทุกประเทศต่างมุ่งหน้าผลักดันการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV กันทั่วหน้า แม้แต่ไทยเองยังมีความตั้งใจพัฒนาจุดมุ่งหมาย สู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนเช่นกัน จริงอยู่รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งในส่วนระยะทางการวิ่ง, ความเร็วในการชาร์จ, อายุการใช้งาน หรือแม้แต่ความปลอดภัย แต่ทยอยได้รับการแก้ไขไปทีละส่วนจากการเปิดตัวเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ อยู่ทุกวัน ส่วนที่ยังติดขัดจนปัจจุบันคือฝั่งอากาศยาน แม้จะมีการพัฒนารถบินได้, eVTOL ไปจนเรือเหาะพลังงานไฟฟ้า แต่ทั้งหมดยังไม่เพียงพอในการชดเชยหรือทดแทนอากาศยานขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของสายการบินในปัจจุบันอยู่ดี
ที่มา: posttoday