โดยเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญต่อจากนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ คือ การเชื่อมเครือข่าย (Connect), จัดการข้อมูล (Manage) และวิเคราะห์คาดการณ์ผลลัพธ์ (Analyze & Predict) ซึ่งจะต้องปรับปรุงระบบเทคโนโลยีการทำงานขนส่งและโลจิสติกส์ให้อยู่ภายใต้ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีเดียวกันตลอดซัพพลายเชน (Supply Chain Technology Ecosystem) อันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการเวลาและกิจกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง สอดคล้องกับ 3 เทรนด์ เทคโนโลยีขนส่งและโลจิสติกส์ ในระดับโลกในปี 2566 นี้
1. การเชื่อมเครือข่ายภายในซัพพลายเชน (Supply Chain Network Connection)
การเชื่อมโยงและทำให้ทุกระบบจัดการงานขนส่งและโลจิสติกส์ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยี Cloud ที่สามารถส่งถ่ายข้อมูลระหว่างระบบและเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถติดตามสถานะและข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ โดยระบบที่ทำงานร่วมกันจะมีความสามารถในงานขนส่งมากขึ้น เช่น การจับคู่ความสามารถของน้ำหนักการบรรทุกของรถขนส่งจากผู้ให้บริการหลายรายกับสินค้าที่จะจัดส่งในแต่ละเที่ยว การประเมินระยะเวลาการจัดส่ง การเลือกเส้นทางที่เหมาะสม การประเมินโอกาสการวิ่งรถเที่ยวกลับ เป็นต้น
2. นวัตกรรมระบบบริหารจัดการงานขนส่ง (Transportation Management System Innovation หรือ TMS)
เป็นระบบบริหารจัดการงานขนส่งที่ใช้ในธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์มานาน หัวใจสำคัญของ TMS คือ การจัดการต้นทุนการขนส่ง ดังนั้นการพัฒนาระบบยังคงมุ่งเน้นการวิเคราะห์และบริหารทรัพยากรด้านการขนส่งสร้างเส้นทางการวิ่งรถแบบแวะหลายจุดส่ง และให้ข้อมูลตัวเลือกจากต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่า สำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาปรับปรุงความสามารถของ TMS ได้แก่
AI เพื่อใช้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความสามารถของการบรรทุก กฎระเบียบจราจร ชั่วโมงการขับรถ ฯลฯ ช่วยประเมินสถานการณ์พร้อมเสนอทางเลือก และวิเคราะห์ผลลัพธ์ได้แม่นยำขึ้น เช่น การประมาณเวลาที่รถขนส่งจะมาถึงปลายทาง (ETA)
IoT การใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์แบบเรียลไทม์ ช่วยให้การบริหารธุรกิจคล่องตัวและมีประสิทธิภาพโดยการปรับปรุงระบบให้สามารถตรวจสอบและจัดการกับสินทรัพย์และยานพาหนะได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที
3. การจัดการช่วงเวลาเข้าออกของรถบรรทุกสินค้า (Time Slot Management)
ถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นในงานขนส่ง เนื่องจากการพัฒนาระบบการทำงานที่มีข้อมูลอัปเดตช่วงเวลาเข้าออกของรถบรรทุกสินค้าจะช่วยให้สามารถจัดทรัพยากรในคลังสินค้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรถบรรทุกที่จะเข้ามาได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เช่น ข้อมูลการประมาณเวลาที่รถจะเข้าถึงคลังสินค้า (ETA) ตำแหน่งที่จอดรถรับส่งสินค้าภายในคลังสินค้า พิกัดท่าสินค้าที่รถบรรทุกกำลังมาถึง ฯลฯ
นอกจากนี้ บางธุรกิจ รถขนส่งสินค้ามีหน้าที่ส่งตรงวัตถุดิบ หรืออะไหล่เข้าสู่สายการผลิตโดยตรง ฉะนั้นเวลาในการเข้าถึงจุดส่งสินค้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิต อีกทั้งการใช้ระบบที่มีความสามารถในการจัดการช่วงเวลาจะสามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เหตุฉุกเฉิน การจราจรติดขัด เหตุพลาดการนัดหมาย ด้วยระบบจะจัดเวลาการจัดส่งใหม่และแก้ไขการนัดหมาย ทำให้มีข้อมูลอัปเดตอย่างทันท่วงทีและไม่เสียเวลารอคอย
ที่มา: salika